วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563


เทคนิคการพูดจูงใจ

ดังนั้นทักษะการพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญและควรฝึกฝน ซึ่งทักษะการพูดนั้นก็มีหลายแบบ เช่น ทักษะการพูดนำเสนอ การโน้มน้าวใจ การเล่าเรื่อง เป็นต้น ซึ่งในวันนี้แคมปัส-สตาร์ มีเทคนิคการพูดจูงใจหรือโน้วน้าวใจผู้อื่น ให้เห็นด้วยหรือคล้อยตามได้ง่ายๆ มาฝากกัน

1. ต้องมีความมั่นใจ

ในการพูดคุยทุกๆ ครั้ง เราควรมีความมั่นใจในตนเอง มั่นใจในสิ่งที่ต้องการพูดหรือสื่อสารออกไป เพราะความมั่นใจจะถูกสื่อออกมาผ่านน้ำเสียง หากผู้พูดมีความมั่นใจน้ำเสียงที่ถูกเปล่งออกมาจะหนักแน่นและน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้พูดสามารถจูงใจหรือโน้มน้าวผู้ฟังได้

2. ต้องมีบุคลิกภาพที่ดี

ลักษณะภายนอกเป็นสิ่งแรกที่คนเรามองเห็น ดังนั้นบุคลิกภาพของผู้พูดก็เป็นสิ่งที่ผู้ฟังสังเกตเห็นได้เป็นอันดับแรก ผู้พูดจึงต้องใส่ใจในการดูแลบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอก เพราะจะช่วยสนับสนุนความน่าเชื่อถือและคำพูดที่สื่อสารออกไป

3. ต้องมีการยกตัวอย่าง

ในการพูดจูงใจหรือโน้มน้าวใจ ควรจะมีการยกตัวอย่างประกอบกับสิ่งที่ต้องการจูงใจ ซึ่งตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็ควรเป็นตัวอย่างที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้หรือควรเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สัมผัสได้ เพื่อให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมและเห็นด้วยกับตัวอย่างนั้นๆ

4. ต้องมีอายคอนแทค

อายคอนแทค หรือ การสบตากับผู้ฟัง เป็นหนึ่งในการสื่อสารทางร่างกายที่บ่งบอกถึงความมั่นใจและความน่าเชื่อถือของผู้พูด ผู้พูดที่ไม่มีอายคอนแทคจะไม่สามารถทำให้ผู้ฟังสนใจในสิ่งที่พูดหรื่ออยู่กับเรื่องราวนั้นๆ ได้

5. ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

เมื่อผู้พูดได้พูดในสิ่งที่ต้องการจูงใจแล้ว ก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้พูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นบ้าง โดยผู้พูดที่กลายเป็นผู้ฟังก็ควรจะตั้งใจรับฟังความคิดเห็นนั้นๆ ไม่ควรปิดกั้น เพราะจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ยึดติดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอาความคิดตนเองเป็นใหญ่ ไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถโน้มน้าวหรือจูงใจผู้อื่นได้

6. ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี

เมื่อผู้พูดควรจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ก็ต้องปฏิบัติตนให้เป็นผู้ฟังที่ดีด้วย คือต้องตั้งใจฟัง มีสมาธิ ไม่พูดแทรก และมีรีแอคชั่นตอบกลับบ้าง เช่น พยักหน้า ตอบรับครับ/ค่ะ เป็นต้น ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดีก็จะช่วยสนับสนุนความน่าเชื่อถือเมื่อเราอยู่ในฐานะผู้พูดอีกด้วย

7. ต้องสอดแทรกอารมณ์ขันบ้าง

หากการพูดคุยนั้นมีแต่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้การสนทนาหรือการสื่อสารนั้นๆ น่าเบื่อและไม่น่าสนใจ แต่ถ้าสอดแทรกมุกตลก หรือสถานการณ์ตัวอย่างสนุกๆ ลงไป ทำให้ผู้ฟังได้ผ่อนคลายบ้างก็จะทำให้การพูดคุยไม่น่าเบื่อและสามารถดำเนินการสนทนาได้ยาวขึ้น



การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี
          การดำรงอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมการเมืองนั้น ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในระดับบุคคลหรือในระดับสังคม เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มิได้ถือกำเนิดมาเหมือนกันทุกประการ หากมีความแตกต่างกันในหลายลักษณะนับแต่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม วีถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรม แม้ว่าความแตกต่างโดยพื้นฐานในลักษณะต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างดังกล่าวนี้ มักเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งระหว่างคนต่างกลุ่มที่อยู่ร่วมในสังคม แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงด้วยแต่อย่างใด
    เนื่องจากปัญหาความรุนแรงในสังคม มีต้นตอที่แท้จริงอยู่ที่การเลือกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ลุล่วง มากกว่าจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งในตัวเอง นั่นย่อมหมายความว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว สังคมมีทางเลือกหลากหลายวิถีทางในการแก้ไขข้อขัดแย้งให้ลุล่วงไปได้ ส่วนการใช้ความรุนแรงนั้น เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเท่านั้น มิใช่เป็นทางออกเดียวในการจัดการความขัดแย้งในสังคม ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านพรมแดนระหว่างชาติสองชาติ อาจจัดการได้ทั้งโดยการใช้ความรุนแรงอย่างการทำสงคราม หรือการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างการเจรจาทางการฑูต เป็นต้น
    ในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในด้านนโยบายสาธารณะ ความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งด้านแรงงาน รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝักฝ่ายที่ตรงข้ามกัน ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มทางการเมืองคนละขั้ว มีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง อันอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ความแตกแยกทางสังคมได้ในที่สุด
แนวคิด
         การสร้างสังคมสมานฉันท์ จำเป็นต้องอยู่บนเงื่อนไขของการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสำคัญ โดยถือว่าสันติวิธีเป็นทางเลือกหลักเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง และยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม เพื่อปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือกลุ่มคนผู้ก่อความรุนแรง ต่างเกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่เชื่อว่า ต่างฝ่ายต่างมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรง เป็นวิธีการบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้ความรุนแรง แม้จะเป็นมาตรการในการจัดการปัญหาที่ดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็ว แต่การใช้ความรุนแรงจัดการปัญหากลับจะทำให้สังคมมองไม่เห็นทางเลือกทางการเมืองอื่นๆ และที่สำคัญ ยังอาจทำให้ความขัดแย้งยิ่งขยายวงกว้างและนำไปสู่การเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงหนักขึ้น
         การเผชิญปัญหาความรุนแรงตามแนวทางสมานฉันท์ จึงหมายถึงการเข้าถึงวิธีการแก้ปัญหาโดยอาศัยสันติวิธีเป็นหลัก อีกทั้งยังต้องหาหนทางสร้างสันติสุขและความมั่นคงของสังคมไทยในอนาคตไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางรากฐานของการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีในสังคม โดยหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในการให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความล่อแหลมต่อการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงได้ทุกขณะ รวมถึงการเสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายการแก้ไขปัญหาความรุนแรงภายในประเทศในระยะยาว ดังเช่นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี
    สำหรับกระบวนการจัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบสันติวิธี มีวิธีการที่สามารถดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับว่าความขัดแย้งอยู่ในสถานการณ์ใด ระหว่างก่อนเกิดสถานการณ์ ระหว่างที่เกิดสถานการณ์ และภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งผ่านพ้นไปแล้ว ในกรณีที่พบว่าความขัดแย้งกำลังจะก่อตัวแนวทางการจัดการเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมคือ การเสนอแนวทางไต่สวนสาธารณะ (Public hearing) ซึ่งเป็นวิธีการที่ควรเกิดก่อนที่จะมีการดำเนินการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อให้ทรรศนะที่แตกต่างขัดแย้งกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ได้รับการพิจารณาและนำไปสู่การสร้างข้อสรุปและการตัดสินใจร่วมกันของคนในสังคม
    ในกรณีที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่ตรงข้ามกัน เช่น การชุมนุมเรียกร้อง การปิดถนน ล้อมทำเนียบรัฐบาลหรือส่วนราชการ ปิดล้อมโรงงาน เป็นต้น แนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมก็คือ การสร้างพื้นที่สำหรับการสานเสวนาระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งผ่านกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยแบบมีคนกลาง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนกลุ่มผู้เรียกร้อง และผู้แทนภาควิชาการ โดยอาจเป็นการเจรจาเพื่อต่อรอง (Negotiation) เพื่อหาข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นที่ไม่ซับซ้อนนักหรือการเจรจาไกล่เกลี่ย คนกลาง (Mediation) ในกรณีที่คู่ขัดแย้งเห็นว่าทั้งคู่ต่างไม่สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้โดยลำพัง จึงต้องอาศัยการยอมรับความช่วยเหลือจากคนกลางเป็นผู้ช่วยตัดสินใจในปัญหาความขัดแย้ง
    สำหรับกรณีที่ปัญหาความขัดแย้งได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้ว เช่นการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกันด้วยความรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายในร่างกายและทรัพย์สิน แนวทางการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธีที่เหมาะสมคือ กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (Restorative justice) ซึ่งเป็นกระบวนการเยียวยาปัญหาความขัดแย้งโดยให้ความสนใจในการฟื้นฟูแก่เหยื่อและชุมชนที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่าการให้คุณค่าเรื่องการลงโทษผู้ทำผิด โดยยกระดับความสำคัญของเหยื่อในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น รวมทั้งการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเรียกร้องให้ผู้ทำผิดแสดงความรับผิดชอบโดยตรงต่อบุคคลหรือชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการข้อพิพาทที่มีรากฐานอยู่ในวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิม เช่น การประชุมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในหมู่บ้าน การบรรเทาและเยียวยาความเสียหายของเหยื่อด้วยจารีตกฎเกณฑ์ในชุมชน เป็นต้น
เป้าหมาย
    1. เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือแนวทางสันติวิธีในการจัดการความขัดแย้ง
    2. มีองค์กรหรือสถาบันทางสังคมเป็นกลไกในการเปิดพื้นที่สำหรับฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้รับฟังซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรม
    3. ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นได้รับการจัดการด้วยกระบวนการหา ข้อยุติอย่างสันติวิธีโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
กลยุทธ์การพัฒนา
       1.จัดเวทีเรียนรู้การจัดการความขัดแย้งอย่าง สันติวิธี ในประเด็นปัญหาในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ในการจัดการความขัดแย้งด้วยวิถีชุมชน ภายใต้บริบทความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และเป็นมิตร และสนับสนุนการสร้างระบบยุติธรรมของชุมชนในการจัดการความขัดแย้งของคนภายในชุมชนและระหว่างชุมชน โดยอาจอยู่ในรูปแบบของ คลินิกยุติธรรมชุมชน” “กระบวนการยุติธรรมชุมนชนและ อนุญาโตตุลาการชุมชน
        2.มีการสำรวจ วิจัย เพื่อรวบรวมบทเรียนการจัดการความขัดแย้งของชุมชน ท้องถิ่น โดยการใช้พลังความเป็นมิตรในชุมชน และเผยแพร่แนวทางการจัดการความขัดแย้งโดย ภาคประชาชนแบบสันติวิธี อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม
     3.สนับสนุนการจัดตั้งกรรมการเจรจาหาข้อยุติความขัดแย้งทางสังคมในประเด็นต่างๆ ด้วยสันติวิธีโดยมีลักษณะไตรภาคีระหว่างผู้แทนภาครัฐที่มีอำนาจตัดสินใจ ผู้แทนผู้เดือดร้อน และนักวิชาการ เป็นตัวแทนเพื่อให้มีการเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูล และเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล และมีตัวกลางรักษาความเป็นธรรมในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายให้สามารถหาข้อยุติที่ยอมรับร่วมกันได้
      4. ส่งเสริมให้มีการสร้างนักจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีที่มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยกระบวนการสมานฉันท์
      5. จัดทำหลักสูตรส่งเสริมสันติวิธีและจัดโครงการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายเป็นมืออาชีพที่มีเครื่องมือในการทำงานกับความขัดแย้งด้วยทางเลือกที่ลดทอนความรุนแรง และเพิ่มพูนความชอบธรรมของรัฐในการบริหารบ้านเมืองด้วยกฎหมายอย่างเป็นธรรม เช่น วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหา ท่าทีในการวางตัวในสถานการณ์เผชิญหน้า เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของการแสดงความเห็นในสังคมประชาธิปไตย เช่น การชุมนุม การดื้อแพ่ง (Civil disobedience) เป็นต้น
    6.ส่งเสริมให้มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายการเรียนรู้การจัดการความขัดแย้งและการสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ระหว่างปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรภาคประชาชน และภาครัฐ เช่น เครือข่ายสมานฉันท์และสันติวิธี เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และการให้องค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่นอกเหนือจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ให้มีการเรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ประเด็นปัญหาความขัดแย้ง 2) การเรียนรู้กระบวนการจัดการความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ 3) การคัดเลือกตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ในกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและการสร้างสมานฉันท์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาและได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม
     7. สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทำหน้าที่ส่งเสริมแนวคิดในการจัดการความขัดแย้งด้วยวัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรง หรือ สันติวัฒนธรรมให้เป็นที่รับรู้แก่สังคมในวงกว้าง
     8.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือของชุมชนในการจัดการความขัดแย้งโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือก การดำเนินกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (Restorative justice) ซึ่งเป็นกระบวนการที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำความผิดมาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาว่าจะจัดการอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำผิด และหาวิธีการในการฟื้นฟูแก่เหยื่อและชุมชนที่ตกเป็นเหยื่อ โดยกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเรียกร้องการแสดงความรับผิดชอบของผู้ทำผิด และให้การช่วยเหลือสนับสนุนในการตอบสนองต่อความต้องการของเหยื่อ
   9. ส่งเสริมการจัดให้มี คณะกรรมการสันติสุขชุมชนจังหวัดภาคใต้” (ข้อเสนอของ กอส.) ประกอบด้วยข้าราชการทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือน ผู้แทนทั้งฝ่ายการเมือง ศาสนา และธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคณะกรรมการสันติสุขชุมชนในทุกหมู่บ้านหรือทุกตำบล ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ครู หรือเจ้าหน้าที่อนามัย เพื่อทำหน้าที่ป้องกันเหตุร้ายจากความเข้าใจผิด สร้างความปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคนต่างศาสนาหรือต่างชาติพันธุ์ในชุมชน และเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน
    10. ผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ.ดับไฟใต้) ตามแนวทางข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อสร้างกลไกที่อำนวยให้ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความรุนแรงของภาครัฐในพื้นที่เป็นเอกภาพ และเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การบัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์
    11. ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่ตรวจทานกฎหมายที่อาจขัดต่อแนวทางสันติวิธี แล้วยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านั้น รวมทั้งบัญญัติมาตรการส่งเสริมสันติวิธี เพื่อส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย
    12. สภาพัฒนาการเมือง สนับสนุนเงินทุนในการต่อสู้คดีของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ อาจตั้งเป็นกองทุนยุติธรรมภาคประชาชน
    13. กำหนดให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดทำมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในรูปแบบต่างๆ

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563


ในการทำงาน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และปัญหาที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นปัญหาที่ทีมงานคาดไม่ถึงมาก่อน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องใช้ไหวพริบ และเป็นการวัดกึ๋นของทีมได้เลยว่า มีการจัดการปัญหาได้ดีเพียงไร จริง ๆ แล้วเรื่องการแก้ไขปัญหาหลายคนอาจคิดว่า มันเป็นทักษะเฉพาะตัวหรือเปล่า ฝึกได้จริง ๆ เหรอ ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ค่ะ ขอเพียงตั้งใจ แล้วทำตาม 6 ข้อด้านล่างนี้ เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาสกิลการแก้ปัญหาได้บ้างไม่มากก็น้อย
1. ดูจากผู้มีประสบการณ์
          แน่นอนว่าไม่มีใครทำทุกอย่างเป็นตั้งแต่เกิด เมื่อเริ่มเข้าทำงานแรกยังเป็นหนุ่มสาวหน้าใหม่ไฟแรง มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับหัวหน้าเก่ง ๆ ก็อย่าลืมรีบเร่งฉกฉวยโอกาสเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ที่ผู้มีประสบการณ์ถ่ายทอดให้ เริ่มแรกถ้ายังไม่มีประสบการณ์ก็เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์นี่แหล่ะดี อาจจะเป็นการเรียนรู้จากหน้างานเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจริงก็ได้ หรือเกิดจากการสอบถามถึงเคสต่าง ๆ ที่ผู้มีประสบการณ์เคยเจอ เคยผ่านมาให้พี่ ๆ เล่าให้ฟัง เพื่อเตรียมตัวโดยไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยไปถาม แล้วเราจำไปใช้ก็ได้เช่นกันค่ะ
2. ทำความเข้าใจกับเรื่องที่ทำให้ถ่องแท้
          ฟังจากผู้มีประสบการณ์ก็คงช่วยได้จุดหนึ่ง แต่จะดีมาก ๆ ถ้าเรามีความเข้าใจพื้นฐานต่อเนื้องานที่เรากำลังทำอย่างถ่องแท้ เข้าใจในทุกมุม ความเข้าใจช่วยได้ในหลายส่วนหากมีปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้น เราจะรู้ทันทีว่าต้องไปตามแก้ที่จุดไหน กับใคร และเราจะสามารถ catch up งานได้ทันว่า โปรเจกต์นี้ดำเนินการไปถึงจุดไหนแล้ว
3. ฝึกวิเคราะห์ปัญหา
          การรู้เหตุแห่งปัญหา และผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และไม่หลอกตัวเองย่อมทำให้รู้หนทางแห่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่ง เริ่มรู้และเข้าใจ flow การทำงานทั้งหมด สิ่งที่สำคัญก็คือต้องฝึกคิดวิเคราะห์แยกแยะปัญหาให้เป็น เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแม่นยำ
4. ฟังอย่างแตกฉาน
          ที่สำคัญไม่แพ้การพูด ก็คือ การฟังหลายคนเข้าใจผิด หลงลืมมองข้ามการฟังที่ดีไป ทำให้ตีความผิดในหลายเรื่องและนำมาซึ่งความไร้ประสิทธิภาพของการแก้ปัญหา เวลาฟัง จงฟังอย่างตั้งใจ และคิดตามไปด้วย อย่าได้ใจลอย คิดไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญจับประเด็นให้ได้ ว่าผู้ส่งสารต้องการจะบอกอะไรกับเราบ้าง แล้วเราจะนำมาวางแผนการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
5. เล่าให้มีประเด็น
          สลับกันกับข้อด้านบน เวลาเป็นคนเล่า ก็ต้องเล่าอย่างมีประเด็นด้วย เล่าให้ผู้ฟังเข้าใจว่าเราต้องการจะสื่อสารอะไรกับเรื่องนี้ และจะขอความเห็นใน next step อย่างไรก็ว่ากันไป การจะเล่าก็ต้องเตรียมตัว เรียบเรียงประเด็นต่าง  ๆ นหัวแล้วค่อยพรั่งพรูออกมา ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นแล้วต้องเล่า ต้องพยายามเล่าให้ครบถ้วนใจความแต่กระชับมากที่สุด เพื่อจะได้เอาเวลาไปคิดวางแผนวิธีรับมือแก้ไขกับปัญหาได้ทัน
6. ทีมเวิร์ค
          สุดท้ายคือเรื่องราวของทีมเวิร์ค ในบางครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นมาออาจไม่ใหญ่โตมากนัก ลำพังคนเพียงคนเดียวก็เอาอยู่ แต่อีกในหลายครั้งหลายคราที่ปัญหาเกิดมา ต้องการทีมงานมาช่วยกันแก้ไขปัญหา คน ๆ เดียวอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดอย่างรวดเร็วทันการณ์ การทำงานการเป็นทีมเวิร์คจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่าบทบาทของเราจะช่วยแก้ปัญที่เกิดขึ้นได้ตรงไหน และพยายามผลักดันให้การแก้ปัญหาได้ลุล่วงไปถึงเป้าหมายได้ในที่สุด



สิทธิหน้าที่นายจ้าง และลูกจ้าง
1. เวลาทำงานปกติ งานทั่วไปไม่เกิน 8 ชม./วัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์ งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ได้แก่ งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือในที่อับอากาศ งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี งานเชื่อมโลหะ งานขนส่งวัตถุอันตราย งานผลิตสารเคมีอันตราย งานที่ต้องทำด้วยเครื่องมือ หรือเครื่องจักร ซึ่งผู้ทำได้รับความสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตราย และงานที่ต้องทำเกี่ยวกับความร้อนจัดหรือความเย็นจัดอันอาจเป็นอันตราย ซึ่งโดยสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูงหรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกิน มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขที่แหล่งกำเนิดได้ และต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล ให้มีเวลาทำงานปกติไม่เกิน 7 ชม./วัน และไม่เกิน 42 ชม./สัปดาห์

2. เวลาพัก
ระหว่างการทำงานปกติ
 ไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกันหรืออาจตกลงกันพักเป็นช่วงๆ ก็ได้แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน งานในร้านขายอาหารหรือร้านขายเครื่องดื่มซึ่งเปิดจำหน่ายหรือให้บริการใน แต่ละวันไม่ติดต่อกันอาจพักเกิน 2 ชม./วันก็ได้ นายจ้างอาจจะไม่จัดเวลาพักได้กรณีเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำ ติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน
ก่อนการทำงานล่วงเวลา กรณีให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. ต้องจัดให้ลูกจ้างพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที

3. วันหยุด
วันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่งงานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
วันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อๆ ไปได้

4. การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด
อาจให้ลูกจ้างทำได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป
อาจ ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน
อาจให้ทำงานในวันหยุด สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม และสถานพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์


5. วันลา
วันลาป่วย ลูกจ้างลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบวันที่ลูกจ้างไม่อาจทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเกิดจากการทำงานหรือวันลาเพื่อคลอดบุตรไม่ถือเป็นวันลาป่วย
วันลากิจ ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน
วันลาทำหมัน ลูกจ้างลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง
วันลารับราชการทหาร ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร หรือทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารได้
วันลาคลอดบุตร ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน ให้หมายความรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย
วันลาฝึกอบรม ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อการแรงงานและสวัสดิการสังคมหรือการเพิ่มทักษะความชำนาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างตามโครงการหรือหลักสูตร ซึ่งมีกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนและชัดเจน และเพื่อการสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้น ลูกจ้างต้องแจ้งเหตุในการลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันลา นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลาหากในปีที่ลาลูกจ้างเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้งหรือแสดงได้ว่าการลาของลูกจ้างอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการประกอบธุรกิจของนายจ้าง

6. ค่าตอบแทนในการทำงาน
ค่าจ้าง จ่ายเป็นเงินเท่านั้น จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้ากำหนดเวลาทำงานปกติเกิน 8 ชม./วัน ให้จ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนสำหรับการทำงานที่เกิน 8 ชม. ขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันทำงาน และในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด
ค่าจ้างในวันหยุด จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ยกเว้นลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์
ค่าจ้างในวันลา จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อทำหมัน จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารไม่เกิน 60 วัน/ปี จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 45 วัน/ครรภ์ จ่ายค่าจ้างในวันลากิจไม่เกิน 3 วัน/ปี

ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
1. ถ้าทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อ ชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวน ชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน
2. ถ้าทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราสามเท่าของอัตรา ค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3. ถ้าทำงานในวันหยุดในเวลาทำงานปกติ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างใน วันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้าง ในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดหรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ค่าชดเชย
1. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
1.1 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
1.2 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
1.3 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
1.4 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
1.5 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

2. ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
2.1 แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ทราบล่วงหน้าไม่ น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
2.2 ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่า จ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจาก ค่าชดเชยปกติดังต่อไปนี้
1. ลูกจ้าง ทำงานติดต่อกันครบหกปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย พิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติซึ่งลูกจ้างนั้นมีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงาน ครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อย หกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน
3. เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

3. ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว
1. นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118
2. ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน

ข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย : ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้
1. ลูกจ้างลาออกเอง
2. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
4. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
5. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
6. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
7. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
8. กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้าง ตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่งานดังนี้
8.1 การจ้างงานในโครงการ เฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือ การค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน
8.2 งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว ที่มีกำหนดงานสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน
8.3 งานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง




 การมีสุขภาพที่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้หน้าที่การงานของท่านดีขึ้น เรามาดูกันว่าการดูแลสุขภาพในที่ทำงานนั้นควรทำอย่างไรบ้าง 
     1. ล้างมือบ่อยๆ      ล้างมือบ่อยๆ หมายถึงการล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหารเที่ยง หรือในเวลาที่มือของท่านเปื้อนสิ่งต่างๆจากการทำงาน และควรมีเจลล้างมือติดไว้ที่โต๊ะของท่านเพื่อใช้ในการทำความสะอาดมือ
     2. ทำความสะอาดโต๊ะทำงานและอุปกรณ์ต่างๆเป็นประจำ      การทำความสะอาดโทรศัพท์, คอมพิวเตอร์, คีย์บอร์ดและสิ่งของต่างๆบนโต๊ะทำงานของท่าน รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆที่ท่านใช้ เป็นการฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆที่สะสมอยู่บนอุปกรณ์เหล่านั้น
     3. รับประทานอาหารครบ 3 มื้อ      อาหารเช้าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกๆคน ผู้ที่ต้องรีบตื่นมาทำงานส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรับประทานอาหารเช้า ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงการอดอาหารเช้าเพื่อลดน้ำหนักก็เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ควรจัดหาเมนูอาหารเช้าง่ายๆที่ท่านรับประทานได้สะดวก เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารชดเชยหลังจากตื่นนอน
     4. หลีกเลี่ยงการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีอาการป่วย      คงไม่มีใครอยากติดโรคหวัด หรือโรคติดต่อต่างๆจากเพื่อนร่วมงานแน่นอน หากเห็นว่าเพื่อนร่วมงานไม่สบาย ควรแนะนำให้เค้าพักผ่อนอยู่บ้านหรือไปพบแพทย์เพื่อรักษา การหลีกเลี่ยงเพื่อนร่วมงานที่มีอาการป่วยไม่ได้หมายความว่าจะต้องรังเกียจ เพื่อนร่วมงานที่ป่วย แต่เป็นการแนะนำให้เขาพักผ่อนหรือพบแพทย์จะดีกว่า
     5. ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน      การชงกาแฟดื่มในที่ทำงานสามารถช่วยให้ท่านหายง่วงนอนขึ้นมาได้ แต่การดื่มกาแฟมากๆก็ไม่ดีต่อสุขภาพของท่านเช่นกัน การลุกเดินไปเติมน้ำเปล่ามาดื่มเป็นประจำเป็นการช่วยให้ท่านได้ขยับตัวจาก ท่านั่งเดิมๆ แก้ง่วงไปในตัว และยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีมากขึ้น และที่สำคัญการดื่มน้ำสะอาดเกิน 8 แก้วต่อวัน สามารถช่วยให้ท่านมีสุขภาพดีได้
     6. พยายามเปลี่ยนท่าทางการทำงานบ่อยๆ      หากท่านรู้สึกเหนื่อยหรือเพลียจากการนั่งทำงานนานๆ ควรลุกเดินไปข้างนอกบ้าง หรือพยายามบิดตัวเปลี่ยนท่าทางในการนั่งบ่อยๆ การหลับตา 5-10 วินาทีพร้อมเปลี่ยนท่าทางในการนั่งบ่อยๆ เป็นการพักระหว่างการนั่งทำงานได้ดีทีเดียว
     7. ใช้สิทธิในการลาพักร้อนให้เกิดประโยชน์      การหยุดพักเรื่องงาน และไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆและลืมเรื่องานไปให้หมด เป็นการช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี และการทำงานก็จะดีขึ้นหลังจากท่านได้พักผ่อนจากความเครียด
     8. เลิกสูบบุหรี่      ทุกท่านคงทราบกันดีแล้วว่าการสูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่ในช่วงเวลาพักเป็นประจำ เมื่อสะสมเป็นเวลานาน ก็จะทำให้สุขภาพของท่านแย่ลงมากถ้าเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ และสารนิโคตินจริงๆแล้วมาฤทธิ์ที่เพิ่มความเครียดให้กับร่างกายและสมอง มิได้ช่วยคลายความเครียดได้แต่อย่างใด

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การดูแลสุขภาพ
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา (จิตวิญญาณ) อย่างเป็นระบบ โดยเชื่อมโยงถึงเหตุปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ระบบบริการสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และ ชุมชน
การดูแลสุขภาพตนเอง หมายถึง การปฏิบัติกิจกรรมที่บุคคลได้ริเริ่มและกระทำ เพื่อที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งชีวิต และสุขภาพ รวมทั้งสวัสดิ์ภาพของตนเอง
การดูแลสุขภาพที่บ้าน หมายถึง การดูแลสุขภาพโดยรวมของครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ในด้านการให้บริการด้านสุขภาพของแต่ละบุคคล และครอบครัวที่บ้าน โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ การดำรงรักษาให้คงสภาวะสุขภาพที่ดี การดูแลสุขภาพตนเอง โดยการพึ่งตนเองของแต่ละคนในครอบครัวให้ได้มากที่สุด บริการที่ให้จะต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคลและครอบครัว ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องวางแผนการให้บริการ การประสานงานอย่างครอบคลุม ผสมผสานอย่างเหมาะสม (รวมทั้งการดูแลฟัน การพยาบาล กายภาพบำบัด การให้คำปรึกษาอาชีวบำบัด สังคมสงเคราะห์ โภชนาการ แม่บ้าน พนักงานดูแลสุขภาพที่บ้าน การขนส่งผู้ป่วย และการตรวจชันสูตร บริการเครื่องมือแพทย์)
การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยหมายถึง การดูแลผู้ป่วยโดยตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติที่อยู่ในครอบครัว ในการปฏิบัติตัวขณะอยู่ในโรงพยาบาลและที่บ้าน อาทิ ด้านการระวังรักษาสุขภาพอนามัย การรับประทานยา การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับโรค การออกกำลังกาย และการมาพบแพทย์ตามนัด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่
การจัดระบบการดูแลสุขภาพที่บ้านเมื่อเจ็บป่วยหลังออกจากโรงพยาบาล หมายถึง การจัดระบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาล เพื่อการดูแลสุขภาพที่บ้าน โดยใช้  D-Method ของคิวคัสโซ (Cucuzzo) ประกอบด้วยตัวอักษรนำหน้าของคำต่างๆ รวมกัน ๗ คำ คือ
Diagnosis คือ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่
Medicine คือ ยาที่ผู้ป่วยใช้ขณะรักษาพยาบาล
Economic คือ เศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และการช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
Treatment คือ การปฏิบัติการพยาบาลเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย เช่น การทำแผล ฉีดยา
Health คือ การส่งเสริมสุขภาพของร่างกายและจิตใจ เช่น การออกกำลังกาย
Out patient คือ ข้อมูลเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน มีผู้ดูแล อุปกรณ์ เครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย ปัญหาของผู้ป่วย
Diet คือ อาหารที่เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย

ดูแลตนเองโดยกลุ่มเมื่อเจ็บป่วย หมายถึง การจัดกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ใช้ประสบการณ์ในการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกัน โดยมีสมาชิกกลุ่มเป็นผู้นำ


คำอธิบายรายวิชา

         ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งคุกคามสุขภาพอนามัยจากการทำงานและการป้องกันโรคจากการทำงาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคจากบุหรี่ ปัญหาสังคมแรงงาน ปัญหาสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่ระบาดจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน สุขภาพจิตและการวิเคราะห์ความเชื่อที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ทักษะการป้องกันภัยจากการก่อการร้าย อาชญากรรมและการหลบหนีเข้าเมือง

จุดประสงค์รายวิชา

1. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิควิธีการพัฒนาสุขภาพในการทำงานและการดำรงชีวิต
2. เพื่อให้มีทักษะพื้นฐานทางด้านสุขภาพในการดำรงชีวิต
3. เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างการแลพจิตใจ มีบุคลิกภาพที่ดี
4. เพื่อให้สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงสารเสพติดทั้งในระดับตนเองและระดับชุมชน
5. เพื่อให้มีทักษะในการจัดการปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง
6. เพื่อให้วิเคราะห์สภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ส่งผลกระทบกับตนเองและชุมชนอันเนื่องมาจากการเข้าสู่อาเซียน
7. เพื่อให้มีจิตสาธารณะ คุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัย เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในอาชีพนั้นๆ

สมรรถนะรายวิชา

1. แสดงความรู้เกี่ยวกับเทคนิควิธีการพัฒนาสุขภาพในการทำงานและการดำรงชีวิต
2. ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการไม่ละเมิดสิทธิ
3. เผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิในเรื่องสุขภาพที่เกี่ยวกับการทำงาน
4. จัดการกับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี
5. แก้ไขในสถานการร์เฉพาะหน้าด้วยกระบวนการคิด ไตร่ตรอง
6.โน้มน้าวให้ผู้อื่นเข้าใจความต้องการและเหตุผลของตนเองด้วยเทคนิคและวิธีการประชาธิปไตย
7. ไกล่เกลี่ย ลดความขัดแย้งตามหลักการ
8. วางแผนดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับวิชาชีพ
9. ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัย

ผู้จัดทำ นาย อนุสรณ์  พึ่งมี ชั้น ปวส.๒ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ นาย ภาคภูมิ  ศรนารายณ์ ชั้น ปวส.๒ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ครู...