วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563


การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี
          การดำรงอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมการเมืองนั้น ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในระดับบุคคลหรือในระดับสังคม เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มิได้ถือกำเนิดมาเหมือนกันทุกประการ หากมีความแตกต่างกันในหลายลักษณะนับแต่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม วีถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรม แม้ว่าความแตกต่างโดยพื้นฐานในลักษณะต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างดังกล่าวนี้ มักเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งระหว่างคนต่างกลุ่มที่อยู่ร่วมในสังคม แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงด้วยแต่อย่างใด
    เนื่องจากปัญหาความรุนแรงในสังคม มีต้นตอที่แท้จริงอยู่ที่การเลือกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ลุล่วง มากกว่าจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งในตัวเอง นั่นย่อมหมายความว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว สังคมมีทางเลือกหลากหลายวิถีทางในการแก้ไขข้อขัดแย้งให้ลุล่วงไปได้ ส่วนการใช้ความรุนแรงนั้น เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเท่านั้น มิใช่เป็นทางออกเดียวในการจัดการความขัดแย้งในสังคม ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านพรมแดนระหว่างชาติสองชาติ อาจจัดการได้ทั้งโดยการใช้ความรุนแรงอย่างการทำสงคราม หรือการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างการเจรจาทางการฑูต เป็นต้น
    ในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในด้านนโยบายสาธารณะ ความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งด้านแรงงาน รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝักฝ่ายที่ตรงข้ามกัน ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มทางการเมืองคนละขั้ว มีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง อันอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ความแตกแยกทางสังคมได้ในที่สุด
แนวคิด
         การสร้างสังคมสมานฉันท์ จำเป็นต้องอยู่บนเงื่อนไขของการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสำคัญ โดยถือว่าสันติวิธีเป็นทางเลือกหลักเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง และยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม เพื่อปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือกลุ่มคนผู้ก่อความรุนแรง ต่างเกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่เชื่อว่า ต่างฝ่ายต่างมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรง เป็นวิธีการบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้ความรุนแรง แม้จะเป็นมาตรการในการจัดการปัญหาที่ดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็ว แต่การใช้ความรุนแรงจัดการปัญหากลับจะทำให้สังคมมองไม่เห็นทางเลือกทางการเมืองอื่นๆ และที่สำคัญ ยังอาจทำให้ความขัดแย้งยิ่งขยายวงกว้างและนำไปสู่การเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงหนักขึ้น
         การเผชิญปัญหาความรุนแรงตามแนวทางสมานฉันท์ จึงหมายถึงการเข้าถึงวิธีการแก้ปัญหาโดยอาศัยสันติวิธีเป็นหลัก อีกทั้งยังต้องหาหนทางสร้างสันติสุขและความมั่นคงของสังคมไทยในอนาคตไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางรากฐานของการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีในสังคม โดยหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในการให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความล่อแหลมต่อการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงได้ทุกขณะ รวมถึงการเสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายการแก้ไขปัญหาความรุนแรงภายในประเทศในระยะยาว ดังเช่นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติวิธี
    สำหรับกระบวนการจัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบสันติวิธี มีวิธีการที่สามารถดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับว่าความขัดแย้งอยู่ในสถานการณ์ใด ระหว่างก่อนเกิดสถานการณ์ ระหว่างที่เกิดสถานการณ์ และภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งผ่านพ้นไปแล้ว ในกรณีที่พบว่าความขัดแย้งกำลังจะก่อตัวแนวทางการจัดการเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมคือ การเสนอแนวทางไต่สวนสาธารณะ (Public hearing) ซึ่งเป็นวิธีการที่ควรเกิดก่อนที่จะมีการดำเนินการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อให้ทรรศนะที่แตกต่างขัดแย้งกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ได้รับการพิจารณาและนำไปสู่การสร้างข้อสรุปและการตัดสินใจร่วมกันของคนในสังคม
    ในกรณีที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่ตรงข้ามกัน เช่น การชุมนุมเรียกร้อง การปิดถนน ล้อมทำเนียบรัฐบาลหรือส่วนราชการ ปิดล้อมโรงงาน เป็นต้น แนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมก็คือ การสร้างพื้นที่สำหรับการสานเสวนาระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งผ่านกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยแบบมีคนกลาง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนกลุ่มผู้เรียกร้อง และผู้แทนภาควิชาการ โดยอาจเป็นการเจรจาเพื่อต่อรอง (Negotiation) เพื่อหาข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นที่ไม่ซับซ้อนนักหรือการเจรจาไกล่เกลี่ย คนกลาง (Mediation) ในกรณีที่คู่ขัดแย้งเห็นว่าทั้งคู่ต่างไม่สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้โดยลำพัง จึงต้องอาศัยการยอมรับความช่วยเหลือจากคนกลางเป็นผู้ช่วยตัดสินใจในปัญหาความขัดแย้ง
    สำหรับกรณีที่ปัญหาความขัดแย้งได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้ว เช่นการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกันด้วยความรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายในร่างกายและทรัพย์สิน แนวทางการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธีที่เหมาะสมคือ กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (Restorative justice) ซึ่งเป็นกระบวนการเยียวยาปัญหาความขัดแย้งโดยให้ความสนใจในการฟื้นฟูแก่เหยื่อและชุมชนที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่าการให้คุณค่าเรื่องการลงโทษผู้ทำผิด โดยยกระดับความสำคัญของเหยื่อในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น รวมทั้งการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเรียกร้องให้ผู้ทำผิดแสดงความรับผิดชอบโดยตรงต่อบุคคลหรือชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการข้อพิพาทที่มีรากฐานอยู่ในวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิม เช่น การประชุมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในหมู่บ้าน การบรรเทาและเยียวยาความเสียหายของเหยื่อด้วยจารีตกฎเกณฑ์ในชุมชน เป็นต้น
เป้าหมาย
    1. เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือแนวทางสันติวิธีในการจัดการความขัดแย้ง
    2. มีองค์กรหรือสถาบันทางสังคมเป็นกลไกในการเปิดพื้นที่สำหรับฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้รับฟังซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรม
    3. ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นได้รับการจัดการด้วยกระบวนการหา ข้อยุติอย่างสันติวิธีโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
กลยุทธ์การพัฒนา
       1.จัดเวทีเรียนรู้การจัดการความขัดแย้งอย่าง สันติวิธี ในประเด็นปัญหาในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ในการจัดการความขัดแย้งด้วยวิถีชุมชน ภายใต้บริบทความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และเป็นมิตร และสนับสนุนการสร้างระบบยุติธรรมของชุมชนในการจัดการความขัดแย้งของคนภายในชุมชนและระหว่างชุมชน โดยอาจอยู่ในรูปแบบของ คลินิกยุติธรรมชุมชน” “กระบวนการยุติธรรมชุมนชนและ อนุญาโตตุลาการชุมชน
        2.มีการสำรวจ วิจัย เพื่อรวบรวมบทเรียนการจัดการความขัดแย้งของชุมชน ท้องถิ่น โดยการใช้พลังความเป็นมิตรในชุมชน และเผยแพร่แนวทางการจัดการความขัดแย้งโดย ภาคประชาชนแบบสันติวิธี อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม
     3.สนับสนุนการจัดตั้งกรรมการเจรจาหาข้อยุติความขัดแย้งทางสังคมในประเด็นต่างๆ ด้วยสันติวิธีโดยมีลักษณะไตรภาคีระหว่างผู้แทนภาครัฐที่มีอำนาจตัดสินใจ ผู้แทนผู้เดือดร้อน และนักวิชาการ เป็นตัวแทนเพื่อให้มีการเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูล และเรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล และมีตัวกลางรักษาความเป็นธรรมในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายให้สามารถหาข้อยุติที่ยอมรับร่วมกันได้
      4. ส่งเสริมให้มีการสร้างนักจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีที่มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยกระบวนการสมานฉันท์
      5. จัดทำหลักสูตรส่งเสริมสันติวิธีและจัดโครงการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายเป็นมืออาชีพที่มีเครื่องมือในการทำงานกับความขัดแย้งด้วยทางเลือกที่ลดทอนความรุนแรง และเพิ่มพูนความชอบธรรมของรัฐในการบริหารบ้านเมืองด้วยกฎหมายอย่างเป็นธรรม เช่น วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหา ท่าทีในการวางตัวในสถานการณ์เผชิญหน้า เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของการแสดงความเห็นในสังคมประชาธิปไตย เช่น การชุมนุม การดื้อแพ่ง (Civil disobedience) เป็นต้น
    6.ส่งเสริมให้มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายการเรียนรู้การจัดการความขัดแย้งและการสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ระหว่างปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรภาคประชาชน และภาครัฐ เช่น เครือข่ายสมานฉันท์และสันติวิธี เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และการให้องค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่นอกเหนือจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ให้มีการเรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ประเด็นปัญหาความขัดแย้ง 2) การเรียนรู้กระบวนการจัดการความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ 3) การคัดเลือกตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ในกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและการสร้างสมานฉันท์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาและได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม
     7. สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทำหน้าที่ส่งเสริมแนวคิดในการจัดการความขัดแย้งด้วยวัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรง หรือ สันติวัฒนธรรมให้เป็นที่รับรู้แก่สังคมในวงกว้าง
     8.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือของชุมชนในการจัดการความขัดแย้งโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การสร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือก การดำเนินกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (Restorative justice) ซึ่งเป็นกระบวนการที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำความผิดมาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาว่าจะจัดการอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำผิด และหาวิธีการในการฟื้นฟูแก่เหยื่อและชุมชนที่ตกเป็นเหยื่อ โดยกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเรียกร้องการแสดงความรับผิดชอบของผู้ทำผิด และให้การช่วยเหลือสนับสนุนในการตอบสนองต่อความต้องการของเหยื่อ
   9. ส่งเสริมการจัดให้มี คณะกรรมการสันติสุขชุมชนจังหวัดภาคใต้” (ข้อเสนอของ กอส.) ประกอบด้วยข้าราชการทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือน ผู้แทนทั้งฝ่ายการเมือง ศาสนา และธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคณะกรรมการสันติสุขชุมชนในทุกหมู่บ้านหรือทุกตำบล ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ครู หรือเจ้าหน้าที่อนามัย เพื่อทำหน้าที่ป้องกันเหตุร้ายจากความเข้าใจผิด สร้างความปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคนต่างศาสนาหรือต่างชาติพันธุ์ในชุมชน และเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน
    10. ผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ.ดับไฟใต้) ตามแนวทางข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อสร้างกลไกที่อำนวยให้ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความรุนแรงของภาครัฐในพื้นที่เป็นเอกภาพ และเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การบัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์
    11. ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่ตรวจทานกฎหมายที่อาจขัดต่อแนวทางสันติวิธี แล้วยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านั้น รวมทั้งบัญญัติมาตรการส่งเสริมสันติวิธี เพื่อส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย
    12. สภาพัฒนาการเมือง สนับสนุนเงินทุนในการต่อสู้คดีของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ อาจตั้งเป็นกองทุนยุติธรรมภาคประชาชน
    13. กำหนดให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดทำมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในรูปแบบต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้จัดทำ นาย อนุสรณ์  พึ่งมี ชั้น ปวส.๒ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ นาย ภาคภูมิ  ศรนารายณ์ ชั้น ปวส.๒ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ครู...